วัตถุจัดเเสดงชิ้นเด่น - เงินตราสมัยรัตนโกสินทร์
วัตถุจัดเเสดงชิ้นเด่น - เงินตราสมัยรัตนโกสินทร์
14/10/2564 / 58 / สร้างโดย Jirasak Inthawichai

เหรียญเงิน ตราพระแสงจักร - พระมหามงกุฎ (เหรียญบรรณาการ) พ.ศ. ๒๔๐๐ - ๒๔๐๑

เหรียญกษาปณ์กลมแบนรุ่นแรกของไทยที่ผลิตจากเครื่องจักรที่ใช้แรงคน ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งอังกฤษ ส่งมาถวายเป็นราชบรรณาการแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ด้านหน้าเป็นรูปพระมหามงกุฎเปล่งรัศมี มีฉัตรกระหนาบสองข้าง พื้นเป็นลายกิ่งไม้ รอบวงขอบมีดาว (ดาว ๑ ดวงแทนจำนวนราคา ๑ เฟื้อง) ด้านหลังเป็นรูปช้างหันหน้าไปทางซ้าย ยืนอยู่กลางจักร รอบวงขอบชั้นนอกมีดาวบอกราคา จำนวนเท่ากับด้านหน้า

เหรียญกษาปณ์ชุดนี้ผลิตขึ้นในช่วงระยะเวลาอันสั้น (พ.ศ. ๒๔๐๐ - ๒๔๐๑) เนื่องจากผลิตเงินเหรียญได้เพียง ๓๐ ชั่ง (๒,๔๐๐ บาท) เงินย่อย ๑๐ ชั่ง ๑๐ ตำลึง (๘๔๐ บาท) และเหรียญทองพัดดึงส์เพียงเล็กน้อย


ภาพจาก https://www.treasury.go.th/th/coin-k4-1/



พดด้วงเงินที่ระลึก ตราพระแสงจักร - พระมหามงกุฎ พ.ศ. ๒๔๐๒

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผลิตพดด้วงเงินที่ระลึกขึ้นในโอกาสฉลองพระมหามณเฑียรพระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๐๒ โดยผลิตขึ้นทั้งสิ้นจำนวน ๓ ชนิดราคา ได้แก่ หนึ่งชั่ง (๘๐ บาท) ตำลึง (๔ บาท) และกึ่งตำลึง (๒ บาท) ทั้งนี้ ชนิดราคานึ่งชั่งมีลักษณะพิเศษ คือ ตราพระแสงจักรมี ๒ แบบ คือ ๗ กลีบ และ ๑๑ กลีบ ซึ่งลวดลายของตราทั้งสองแกะด้วยมือ


ภาพจาก https://www.treasury.go.th/th/coin-k4-13/



เหรียญเงิน พระบรมรูป - ตราไอราพต ร.ศ. ๑๒๗ พ.ศ. ๒๔๕๑

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้โรงกษาปณ์ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ผลิตขึ้นเพื่อนำมาใช้หมุนเวียนแทนเงินตรารุ่นเก่า โดยเปลี่ยนตราแผ่นดินเป็นตราไอราพต ซึ่งหมายถึง สยามเหนือ สยามกลาง สยามใต้ และเปลี่ยนระบบการเรียกราคาเป็นหนึ่งบาท สองสลึง หนึ่งสลึง โดยเหรียญรุ่นแรกที่ผลิตขึ้น คือเหรียญชนิดราคาหนึ่งบาท ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ. ๒๔๕๑) แต่เนื่องด้วยพระองค์ได้เสด็จสวรรคตก่อนที่จะมีการประกาศใช้เหรียญดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเป็นที่ระลึกในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๓

            ทั้งนี้ เหรียญเงิน พระบรมรูป - ตราไอราพต เป็นที่รู้จักทั่วไปในชื่อ "เหรียญหนวด” ซึ่งเรียกตามพระบรมรูปที่ทรงพระมัสสุ (หนวด)


ภาพจาก หนังสือวิวัฒนาการกษาปณ์ไทย จากยุคอาณาจักรโบราณ

(The Evolution of Thai Money From its Origins in Ancient Kingdoms)



เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกช้างไทย พ.ศ. ๒๕๕๙

          เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกซึ่งกรมธนารักษ์จัดทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๙ เพื่อเป็นที่ระลึกและเผยแพร่พระเกียรติคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ช้างป่า จากแนวพระราชดำริ "ช้างป่าควรอยู่ในป่า” อันก่อให้เกิดการจัดตั้งโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสภาพป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นตัวอย่างหนึ่งของโครงการตามแนวพระราชดำริที่ส่งผลดีทั้งต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนและการอยู่อาศัยของสัตว์ป่า โดยเฉพาะช้างป่าที่มีจำนวนมากในพื้นที่ป่ากุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ลวดลายด้านหน้าเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ด้านหลังเป็นรูปช้าง ๒ เชือก และภาพแฝงที่ทำขึ้นด้วยเทคนิค Latent Image เป็นรูปนกวายุภักษ์ ตราสัญลักษณ์ประจำกระทรวงการคลัง สลับกับรูปอักษร RTM อันสื่อถึง Royal Thai Mint หรือโรงกษาปณ์ไทย 


เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ รอบ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร โดยลวดลายด้านหน้าเป็นพระรูปสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศพลเอก ฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ ทรงเครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์และสายสร้อยจุลจอมเกล้า ด้านหลังเป็นตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสพระราชพิธีดังกล่าว